เปลี่ยนบ้านให้เป็นโรงพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุ
เปลี่ยนบ้านให้เป็นโรงพยาบาล ด้วยบริการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุถึงบ้านผ่านแอปพลิเคชันด้านการแพทย์ที่มั่นใจได้ว่าตอบโจทย์ทุกการดูแลรักษา
เปลี่ยนบ้านให้เป็นโรงพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุ

ไม่มีใครอยากเจ็บป่วย แต่เมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหาสุขภาพที่ไม่คาดคิด หากเลือกได้ระหว่างรักษาที่บ้านกับโรงพยาบาล เชื่อแน่ว่าเกือบทุกคนย่อมอยากรักษาตัวที่บ้านท่ามกลางคนที่รัก จากแรงบันดาลใจและความรู้ที่สั่งสมมา จุดประกายให้หมอตั้ม-นายแพทย์คณพล ภูมิรัตนประพิณ CEO และ Co-Founder บริษัท เฮลท์ แอท โฮม จำกัด ริเริ่ม Health at Home บริการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุถึงบ้านผ่านแอปพลิเคชันด้านการแพทย์ที่มั่นใจได้ว่าตอบโจทย์ทุกการดูแลรักษา

ต่อยอดการดูแลรักษา

เพราะอยากยกระดับบ้านให้เป็นโรงพยาบาล หมอตั้มจึงไม่รอช้าที่จะสร้างสรรค์บริการ Health at Home “เราเรียนเฉพาะทางด้านผู้สูงอายุ จนกระทั่งมีโอกาสไปเทรนนิ่งที่ New York City แล้วพบกับเทรนด์ใหม่คือ Home Care แม้จะอายุมากก็สามารถอยู่บ้านตัวเองได้ ประกอบกับมีงานวิจัย 90% พบว่า คนทุกคนอยากอยู่บ้านตัวเอง รวมทั้งเทรนด์ Mobile Technology ที่เมื่อระบบอินเทอร์เน็ตเข้าถึงก็สามารถส่ง Service ไปที่บ้านได้ง่ายขึ้น โรงพยาบาลเริ่มมอนิเตอร์คนไข้ที่บ้านได้ เวลาหมอหรือพยาบาลไปเยี่ยมคนไข้ที่บ้านก็เก็บข้อมูลได้ จึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นอายุรแพทย์เต็มเวลาเพื่อมาทำ Health at Home กับเพื่อนอีกสองคน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนบ้านให้เป็นโรงพยาบาลมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้สูงอายุ รวมทั้งคนทั่วไปและคนที่อยู่ตัวคนเดียวก็สามารถใช้บริการได้”

จัดหาผู้ดูแลแบบทันใจ

การใช้เทคโนโลยีมาออกแบบระบบเพื่อให้สามารถหาผู้ดูแลที่ตรงใจมากที่สุดคือจุดเด่นของ Health at Home ซึ่งหมอตั้มเล่าให้ฟังว่า “การจะทำบ้านให้เป็นโรงพยาบาลประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนแรกบริการส่งผู้ดูแลที่มีคุณภาพ
ไม่ว่าจะเป็นพยาบาลวิชาชีพ ผู้ช่วยพยาบาล นักกายภาพบำบัด ผู้ช่วยเหลือคนไข้ และผู้ดูแลทั่วไป โดยใช้ระบบคัดกรองคนที่เหมาะสมที่สุดส่งถึงบ้าน และส่วนที่สองคือ การนำข้อมูลผู้ป่วยจากที่บ้านมาวิเคราะห์ความดัน ชีพจร อุณหภูมิร่างกาย อาการประจำวัน เพื่อนำไปแปรผลต่อยอด หลักๆ คือใช้เทคโนโลยีไปสร้างระบบแล้วก็เน้นเก็บข้อมูล ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล แต่จะมีพยาบาลไปเยี่ยมบ้าน ทำแผล เปลี่ยนสายสวนปัสสาวะ หรือไปเจาะเลือด เป็นต้น

ยกตัวอย่างเคสผู้ป่วยผ่าตัดสะโพก ผู้ป่วยมีการหกล้มจนกระดูกสะโพกหัก เดินไม่ได้ เขาอาการดีแล้วต้องการกลับบ้าน ไม่อยากนอนโรงพยาบาลนานๆ เขาติดต่อเข้ามาผ่านเว็บไซต์ https://healthathome.in.th แล้วก็แจ้งรายละเอียดว่าต้องการการดูแลแบบใด จากนั้นเราจะโทรไปประเมินอาการอย่างละเอียด ทั้งเพศ อายุ อาการ รวมถึงเส้นทาง แล้วไป Matching กับฐานข้อมูลว่าผู้ดูแลท่านใดมีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดมากที่สุด แล้วก็จะทำการส่งโปรไฟล์ให้ดูว่าโอเคหรือไม่ ถ้าโอเคเราก็จะจัดส่งผู้ดูแลไปที่โรงพยาบาลหรือที่บ้านเพื่อประเมินออกแบบแผนการดูแลประจำวัน จากนั้นทำการลงแอปพลิเคชันของ Health at Home เพื่อเก็บข้อมูลและมอนิเตอร์ซึ่งกันและกัน ตอนนี้ส่วนใหญ่มีทั้งคนไข้ระยะสั้นและระยะยาว มีตั้งแต่หนึ่งสัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน”

ใส่ใจทุกรายละเอียด

มาตรฐานในการคัดเลือกผู้ดูแลคือสิ่งสำคัญที่ Health at Home ใส่ใจมากที่สุด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ “ตอนนี้ทีมเรามีทั้งหมด 7 คนคือผมกับเพื่อนที่ร่วมกันก่อตั้ง โปรแกรมเมอร์, Product Manager และCommunity Manager ซึ่งในการคัดเลือกผู้ดูแล ถ้าเป็นคนที่มีวุฒิและใบรับรองการทำงานเรียบร้อยก็สัมภาษณ์และสอบประวัติอาชญากรรมได้เลย แต่ถ้าเป็นผู้ดูแลทั่วไปจะต้องทำการสอบทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้งกับพยาบาลอาวุโส ผู้ดูแลผู้ป่วยที่ดีจะต้องรักคนที่ดูแลเหมือนเป็นญาติของตนเอง มีเมตตา อดทน ใจเย็น เพราะงานดูแลเป็นงานที่ต้องใช้เวลา ตอนนี้มีผู้ดูแลในระบบประมาณ 140 คน ซึ่งเปิดรับเรื่อยๆ เดือนละครั้ง ส่วนรูปแบบการทำงานมีทั้ง Full Time, Part Time และ Freelance สำหรับอุปสรรคที่พบจะเป็นในเรื่องระบบการขาดงานและลางานของผู้ดูแลที่เรากำลังพยายามออกแบบระบบให้มีประสิทธิภาพเพื่อหาคนมาแทนได้อย่างรวดเร็ว”

สบายใจได้อยู่บ้าน

แม้จะเริ่มต้นได้ไม่นานแต่ก็ทำการดูแลไปแล้วถึง 60 เคส ซึ่งหมอตั้มเล่าถึงเคสที่ประทับใจที่สุดว่า “เคสนั้นเป็นคนไข้มะเร็งระยะสุดท้าย พ่อไม่อยากอยู่โรงพยาบาล ลูกดูแลเองไม่ไหวเลยใช้บริการของเราจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิตที่ได้เห็นลูกๆ มาอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าแล้วจากไปอย่างไม่เจ็บปวดทรมาน เป็นช่วงเวลาที่ดี เพราะไม่มีใครอยากเสียชีวิตที่โรงพยาบาล แต่อยากอยู่ที่บ้านแบบสบายใจ เรารู้สึกว่าเป็นบริการที่ดี เพราะการจัดหาผู้ดูแลเป็นสิ่งจำเป็นกับครอบครัว เนื่องจากปัจจุบันครอบครัวขนาดเล็กลง อยากดูแลพ่อแม่แต่ต้องทำงาน ถ้าสามารถไว้ใจผู้ดูแลได้ก็จะช่วยแบ่งเบาและเติมเต็มการดูแลให้เป็นช่วงเวลาที่ดี ซึ่งผู้ดูแลทุกคนที่มาทำตรงนี้ทุกคนทำด้วยหัวใจ เพราะรักและอยากดูแลคนอื่น รู้สึกดีที่คนที่เขาดูแลดีขึ้น”

แค่คิดแล้วลงมือทำ

ปัจจุบันการสื่อสารพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทั้งอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน ช่วยให้การเชื่อมต่อและการเก็บข้อมูลทำได้ง่ายและรวดเร็ว มีประโยชน์อย่างมากในอนาคต ดังนั้นเพียงแค่เห็นภาพว่าอยากทำอะไรแล้วลงมือทำโปรเจกต์ดีๆ ก็เกิดขึ้นได้ “นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ใหม่ ล้ำเลิศ หรือมาจากห้องวิจัย บางครั้งเพียงนำเทคโนโลยีบางอย่างมาประยุกต์ใช้ก็สามารถตอบโจทย์ได้แล้ว เพียงแค่รู้ว่าต้องใช้อย่างไร ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นโปรแกรมเมอร์เท่านั้น เพียงเห็นภาพว่าอยากทำอะไรแล้วจับตรงนั้นตรงนี้มาประยุกต์ใช้กับสิ่งที่เจอ ก็กลายเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ได้ เราอยู่ในยุคที่เรียนรู้อะไรก็ได้เพราะข้อมูลมีมากมาย อยู่ที่ว่าเรามีความกระหายที่จะเรียนรู้หรือทำมันหรือเปล่า ขอแค่มีความตั้งใจแล้วมองหาจากสิ่งรอบตัว ที่สำคัญคือต้องลงมือทำ

ในอนาคตคุณหมอคนเก่งมุ่งหวังให้บริการนี้ใช้ได้กับคนทุกบ้านเพื่อลดปัญหาเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลไม่เพียงพอและมีความตั้งใจว่าในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ “คนที่เจ็บป่วยไม่หนัก สามารถรักษาอยู่ที่บ้านได้ ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล”

ติดตามอัพเดตและใช้บริการ Health at Home ได้ที่เว็บไซต์ https://healthathome.in.th หรือเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/healthathome.in.th/ หรือ Line : @healthathome หรือโทรปรึกษาได้ที่ 086–397–1767